สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (เกิด 27 มีนาคม พ.ศ. 2475) เจ้าของนามปากกา ส. ศิวรักษ์ เป็นนักเขียนชาวไทย และนักวิชาการอิสระ เป็นที่รู้จักทั่วไปจนได้รับสมญานามว่า ปัญญาชนสยาม มีชื่อเสียงอย่างมากในการวิจารณ์อย่างไม่เกรงใจใคร ไม่เกรงอำนาจผู้ใด จนได้รับ รางวัลอัลเทอเนทีฟโนเบล (Alternative Nobel) หรือ "รางวัลสัมมาอาชีวะ" ในปี พ.ศ. 2538 สุลักษณ์ ยังได้รับรางวัลศรีบูรพาจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในปีเดียวกันอีกด้วย มีผลงานการเขียนมากมายครอบคลุมหลายด้าน เช่นพุทธศาสนา สังคม การเมือง รูปแบบการปกครอง เป็นต้น โดยมีหนังสืออัตชีวประวัติของตนเองชื่อว่า ช่วงแห่งชีวิต
สุลักษณ์เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2475 ที่กรุงเทพมหานคร มีชื่อเล่นว่า แป๊ะ หรือ เหม่ เป็นบุตรคนเดียวของเฉลิม และสุพรรณ สมรสกับนิลฉวี มีบุตร 1 คน ธิดา 2 คน
ครอบครัวของสุลักษณ์ เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน บรรพบุรุษทั้งหมดเป็นชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งเดินทางเข้ามาตั้งรกรากและแต่งงานกับชาวไทยตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึงรัชกาลที่ 5 แม้พื้นฐานครอบครัวจะได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนก็ตาม แต่ก็ได้ผสมผสานจนกลายเป็นครอบครัวคนไทยที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นหลัก[ต้องการอ้างอิง] ส่วนพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นตระกูลที่ประกอบอาชีพค้าขายเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่รับราชการในส่วนกลาง แต่ในช่วงที่สุลักษณ์เกิดนั้น เป็นช่วงที่ฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำเกือบถึงขีดสุด จึงแยกครอบครัวมาอยู่ที่ซอยสันติภาพ ถนนนเรศ[ต้องการอ้างอิง] อันเป็นบ้านที่สุลักษณ์อาศัยอยู่ในปัจจุบัน หลังจากที่บิดาถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2489 สุลักษณ์ซึ่งตอนนั้นยังอยู่ในช่วงมัธยมต้น ก็ต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเอง และต่อมาจึงได้รับการอุปการะจากมารดา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา
สุลักษณ์นับเป็นนักเขียนที่มีผลงานหนังสือมากที่สุดในประเทศ รวมกว่า 200 เล่ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นการรวมคำกล่าว หรือบทสัมภาษณ์ของเขาในที่สาธารณะ